หากพูดถึง “โรคมะเร็ง” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งปอดกันเสียมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถึงแม้จะไม่ใช่โรคมะเร็งชนิดแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง แต่ก็ถือเป็นมะเร็งที่พบผู้ป่วยในไทยเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.2553 พบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นเพศชาย มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งทั้งหมด และพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิงอีกด้วย
นอกจากสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แล้ว ผู้ป่วยหลายท่านกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะสายเกินไป ดังนั้นเมื่อทราบถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคนี้ได้มากเลยล่ะค่ะ
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออาการที่พบติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งบริเวณผนังลำไส้ใหญ่ ซึ่งโดยปกติแล้วลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่แปรของเสียเหลว ที่ถูกดูดซึมเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ออกไปจนหมดแล้ว ให้เป็นอุจจาระแข็งเพื่อรอการขับถ่ายออกจากร่างกาย
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีสาเหตุจากอะไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็เหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างชัดเจน ทราบเพียงแค่ความเสี่ยงที่อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติเท่านั้น
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่?
– ผู้ที่มีญาติ หรือสมาชิกในครอบครัว เคยป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มาก่อน
– ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
พฤติกรรมเสี่ยง “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่”
- รับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง ปิ้งย่าง ที่มีลักษณะไหม้เกรียมบ่อยๆ
- รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป
- อ้วน (น้ำหนักเกินมาตรฐาน)
- ขาดการออกกำลังกาย
- ดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง(Sedentary Behavior) เช่น นั่งติดเก้าอี้ นั่งดูทีวีทั้งวัน นอนติดเตียง
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการอย่างไร?
ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ แต่จะมีสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย เช่น อุจจาระมีขนาดเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน (ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวาร) และอาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซีด หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย
โรคมะเร็งลำไส้ วินิจฉัยได้อย่างไร ?
ภายหลังจากที่แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคและระบุว่าเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์ก็จะทำการแบ่งระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตามการแพร่กระจายของโรค ดังต่อไปนี้
- ระยะที่ 0 / Stage 0 : มะเร็งลำไส้ในระยะนี้เป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยที่เซลล์มะเร็งยังอยู่แค่เฉพาะบริเวณผนังของลำไส้
- ระยะที่ 1 / Stage 1 : ในระยะนี้ก็เช่นกัน มะเร็งจะยังไม่มีการแพร่กระจายออกจากผนังลำไส้
- ระยะที่ 2 / Stage 2 : มะเร็งได้แพร่กระจายออกนอกลำไส้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 / Stage 3 : มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
- ระยะที่ 4 / Stage 4 : มะเร็งได้แพร่กระจายออกไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย แต่จะแพร่กระจายไปยังปอดและตับมากที่สุด
- Recurrent : ผู้ป่วยมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหลังจากที่ทำการรักษา
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีวิธีป้องกันอย่างไร?
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นโรคร้ายแรงที่อันตราย เนื่องจากไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่เราสามารถลดภาวะเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ง่ายๆ เพียงแค่ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ลดจำนวนครั้งในการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง และปิ้งย่าง ทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ธัญพืชต่างๆ ผัก และผลไม้ ให้มากขึ้น ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับรองว่าเคล็ดลับง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไปได้มากเลยทีเดียวค่ะ
อย่างไรก็ตามหากใครที่ประวัติครอบครัวเคยมีคนป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีอาการผิดปกติในเรื่องของการขับถ่าย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่านะคะ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : bumrungrad.com, bangkokhospital.com
ภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/693470
เรียบเรียง : สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน