เข่าเสื่อม (Knee Ostoearthritis) พบได้มากในวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเมื่อต้องทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดและฝืดบริเวณข้อเข่า ทำให้การเคลื่อนไหวทำได้ลำบากมากขึ้น รวมไปถึงเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ ก็อาจทำให้รู้สึกฝืดขัดและเจ็บปวดบริเวณข้อเข่า ทำให้เกิดความยากลำบาก และบั่นทอนความสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน
เข่าเสื่อม มีอาการอย่างไร?
- มีเสียงลั่นบริเวณข้อในขณะที่มีการเคลื่อนไหว
- มีอาการกดเจ็บ
- เสียมวลกล้ามเนื้อและเข่าอ่อนแรง
- ข้อเข่าเสียความยืดหยุ่น ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มประสิทธิภาพ ข้อขยับได้ยาก หรือข้อติด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในตอนเช้า หรือเมื่อต้องนั่งเป็นเวลานานๆ ทำให้เวลาเดิน ลุกจากเก้าอี้ หรือ เดินขึ้น-ลงบันได ทำได้ด้วยความยากลำบาก
ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเข่าเสื่อม เช่น ข้อเข่าฝืด มีอาการเจ็บปวด รวมไปถึงอาการที่กล่าวไปข้างต้น หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และหาแนวทางในการรักษา เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
สาเหตุของเข่าเสื่อม
เกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนปลายกระดูกข้อต่อเสื่อมลง ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ได้กล่าวในข้างต้นตามมา เข่าเสื่อมที่มาจากสาเหตุอื่นหรือไม่ทราบสาเหตุ มีดังต่อไปนี้
- อายุ : สาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ “อายุ” เมื่อมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อมก็จะมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ที่อายุยังน้อยก็มีความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมได้เช่นเดียวกัน โดยพบว่าเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น
- ได้รับบาดเจ็บ : ประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนกระทั่งหายเป็นปกติแล้ว แต่ยังถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเข่าเสื่อมได้ในอนาคต
- เพศ : ในเพศหญิงมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป แต่ในกรณีนี้ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจน
- โรคอ้วน : ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน อาจทำให้ข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่า ต้องแบกรับน้ำหนัก 3-4 เท่า/น้ำหนักตัว ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เข่าเสื่อมได้ในอนาคต
- กรรมพันธุ์ : ในผู้ป่วยข้ออักเสบบางราย พบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเข่าเสื่อม เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ เข่าเสื่อมอาจมีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการทำลายของข้อต่อ เช่น โรคเก๊าท์, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยกของหนักหรือแบกรับน้ำหนักมากๆ เป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเข่าเสื่อมได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
การวินิจฉัยเข่าเสื่อม
แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติ เช่น โรคประจำตัว อาการ หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และตรวจสอบอาการต่างๆ จากการตรวจเข่า เช่น อาการกดเจ็บ อาการบวมแดง และตรวจดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ละเอียดและหาสาเหตุได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ด้วยการตรวจเพิ่มเติม อาทิ เอกซเรย์ (X-rays) หรือใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)
นอกเหนือจากนั้น แพทย์อาจทำการตรวจเลือดหรือน้ำในไขข้อ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการที่คล้ายเข่าเสื่อม หรืออาการปวดข้อ เช่น โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ การติดเชื้อต่างๆ หรือการอักเสบ
เข่าเสื่อม มีวิธีรักษาอย่างไร?
การรักษาเข่าเสื่อม จะให้ความสำคัญกับการลดความเจ็บปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการรักษาจะอาศัยวิธีต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน
ควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก เนื่องจากเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จะทำให้เข่าต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นและทำให้พัฒนาเป็นเข่าเสื่อมได้ในที่สุด - บริหารข้อเข่า ยืดเหยียดเข่าเป็นประจำ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงจนสามารถช่วยพยุงข้อเข่าได้และเมื่อข้อเข่ามีความยืดหยุ่นสูงก็จะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับข้อมากเกินไป เช่น เล่นเวท หรือ วิ่ง การว่ายน้ำเป็นวิธีออกกำลังที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากข้อไม่ต้องรับแรงกดมาก นอกจากนั้น การปั่นจักรยาน หรือการเดินเร็ว อย่างน้อย สัปดาห์ละ 150 นาที ก็สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : https://www.pobpad.com
ภาพ : https://laboratoryfocus.ca
เรียบเรียง : สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน