โรคกระดูกพรุน เป็นอันตรายที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น การไม่ออกกำลังกาย และมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แม้เพียงอุบัติเหตุเล็กน้อยก็สามารถทำให้กระดูกหักได้ โดยปกติทั่วไปหากเดินหกล้มบนพื้นที่ราบธรรมดาก็จะไม่เป็นไร มากที่สุดอาจทำให้ข้อเท้าพลิก เจ็บข้อมือนิดหน่อย สามารถเอามือยันพื้นได้ แต่สำหรับกลุ่มคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน หากลื่นล้มบนพื้นราบ ก็อาจทำให้กระดูกหักได้ สะโพกกระแทกพื้นสะโพกหัก เอามือยันพื้น ข้อมือก็จะหัก ทั้งหมดนี้คืออันตรายจากโรคกระดูกพรุน
อาจารย์ นายแพทย์ กุลพัชร จุลสำลี ศัลแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้เผยถึงสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ในรายการพบหมอรามาฯทางสถานี RAMA CHANNEL ว่า โดยปกติกระดูกของเราจะมีการส้รางและการทำลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงก่อนอายุ 30 – 35 ปี ร่างกายจะมีการสร้างและทำลายกระดูก โดยจะมีการสร้างมากกว่าการทำลาย จะทำให้กระดูกค่อยๆแข็งแรงขึ้นหลังจากช่วงอายุ 30 – 35 ปี ในช่วงประมาณ 5 – 10 ปีแรก มวลกระดูกจะมีการสร้างและการทำลายที่สมดุลกัน หลังผ่านระยะนั้นไป คือช่วงประมาณอายุ 40 ปีเป็นต้นไป การทำลายกระดูกจะเริ่มมีการทำลายมากกว่าการสร้าง ตามธรรมชาติของร่างกายกระดูกจะค่อยๆบางลงไปตามธรรมชาติและระดับของกระดูกพรุนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายเราสะสมมวลกระดูกไว้มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ช่วงอายุแรกเกิดจนถึงอายุ 30 ปี
ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร มีทั้งลักษณะหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม และโรคประจำตัวต่างๆ
- โรคเบาหวาน
- โรครูมาตอยด์ต่างๆ
- ต่อมหมวกไตมีปัญหา
- กลุ่มที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
- โรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์
ลักษณะและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเป็รโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- สูบบุหรี่จัด
- ไม่ออกกำลังกาย
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำพฤติกรรมเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนทั่วไป
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่จะไม่แสดงอาการให้เราเห็น แต่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อกระดูกเราหักไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้ และรับรู้ถึงความเสี่ยง การสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ แล้วจึงไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจมวลกระดูก และคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนนั้นมีอยู่ 2 แบบหลักๆ คือการตรวจมวลกระดูก เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะส่งเราไปเข้าเครื่องตรวจมวลกระดูก ซึ่งจะได้รับรังสีเพียงเล็กน้อย จากนั้นจะตรวจมวลกระดูกออกมา นำมาคำนวณตามค่าเฉลี่ยของประชากร หากมวลกระดูกต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประชากรถึงระดับหนึ่ง ก็จะสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนได้ และวิธีการคำนวณความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก โดยแพทย์จะสอบถามประวัติคร่าวๆ แล้วจึงคำนวณออกมา เรียกการคำนวณความเสี่ยงนี้เรียกว่า frax score ซึ่งจะดูจากเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินยาสเตียรอยด์ โรคประจำตัวรวมถึงประวัติครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน โดยความเสี่ยง frax score จะสามารถคำนวณออกมาได้ 2 แบบ คือ คำนวณเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักโดยทั่วไปในระยะ 10 ปี และกระดูกหักบริเวณสะโพกในระยะ 10 ปี หากค่าความเสี่ยง frax score ของกระดูกหักทั่วไปมีค่ามากกว่า 20% ในระยะ 10 ปี หรือค่าความเสี่ยงที่กระดูกสะโพกจะหักมากกว่า 3% ในระยะ 10 ปี ก็ต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน และต้องได้รับการรักษา
การรักษาโรคกระดุกพรุน
การรักษาและการดูแลตนเองในกรณีที่เป็นโรคกระดูกพรุน การรักษาจะเป็นการรักษาด้วยยา ฉะนั้นในการรับประทานยาหรือบางท่านอาจเลือกใช้วิธีฉีดยาเพื่อรักษาโรค จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องไปพบแพทย์และรับประทานหรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
1. ให้ระวังเรื่องการพลัดตกหกล้ม เนื่องจากโรคกระดูกพรุน หากล้มพียงนิดเดียวก็อาจทำให้กระดูกหักได้ ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้พลัดตกหกล้มและควรจัดข้าวของที่บ้านให้เป็นระเบียบ ระวังตัวเสมอเวลาขึ้นบันได
2. ต้องหมั่นไปรับแสงแดด เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายเราสังเคราะห์วิตามิน D ได้ โดยวิตามิน D นั้นมีส่วนช่วยให้แคลเซียมที่ได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น เราจึงควรต้องออกไปรับแสงแดดวันละประมาณ 15 นาที เป็นแดดอ่อนๆเวลาเช้าหรือเย็นก็ได้
3. การออกกำลังกาย การเลือกออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ต้องเป็นกิจกรรมที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่างๆ เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ หรือการเต้นแอโรบิกสำหรับผุ้สูงอายุ ก็จะสามารถช่วยเพิ่มมวลกระดูกและทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้นได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเสริมกำลังกล้ามเนื้อ เสริมสมรรถภาพของเส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ อีกด้วย และช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อีกทางหนึ่ง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนนั้นจะมีข้อจำกัดบางอย่างในการออกกำลังกาย เช่น อายุที่มากทำให้บางคนมีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ข้อสะโพกมีปัญหา ในบางคนยังมีเรื่องโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคปอดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย จึงควรต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าตัวผู้ป่วยสามารถทำอะไรได้บ้าง
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : อาจารย์ นายแพทย์ กุลพัชร จุลสำลี
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
ภาพ : http://nuclear.rmutphysics.com/
เรียบเรียง : สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน