กระดูกนับว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย ช่วยให้เราสามารถเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วตามปกติ จากนี้เราจะชวนทุกท่านมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมกับหาวิธีรักษาและสร้างมวลกระดูก เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะกระดูกพรุน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก และอุบัติเหตุหกล้มในผู้สูงอายุก็อาจทำให้เกิดภาวะพิการหรือเสียชีวิตได้ พันเอกหญิง แพทย์หญิง สุมาภา ชัยอำนวย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประจำกองอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้มาอธิบายถึงวิธีการสร้างและรักษาระดับมวลกระดูกตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยชรา รวมทั้งเกร็ดข้อมูลเพื่อสุขภาพกระดูกอีกมากมาย แพทย์หญิงสุมาภาแนะนำว่าการจะดูแลกระดูกให้ถูกต้อง ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกลไกการสะสมของมวลกระดูกร่างกายก่อน ความหนาแน่นของมวลกระดูกของคนเราจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยหลัก ได้แก่ พันธุกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อมวลกระดูกโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และปัจจัยรองที่สามารถทำเสริมเพื่อช่วยทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุจำเป็นเพียงพอและออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing Exercise) ที่จะช่วยเพิ่มการสะสมของมวลกระดูกได้ โดยแนะนำให้ฝึกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนถึงวัย 30 ปี ทำไปเรื่อยๆ จนถึงวัยชรา วัยเจริญพันธุ์ เป็นช่วงเวลาที่มีการสะสมแคลเซียมในกระดูกมาที่สุด คือวัยที่มีอายุประมาณ 14 ปีในเด็กผู้หญิงและ 16 ปีในเด็กผู้ชาย หลังจากที่ร่างกายหยุดเพิ่มความสูงแล้วส่วนปลายของกระดูกจะปิด แต่กระดูกจะยังสามารถหนาได้อีกเพียงเล็กน้อยจนถึงอายุ 30 ปี ช่วงนี้จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการสะสมของมวลกระดูกสูงสุด (Peak Bone Mass) จากนั้นการสะสมแคลเซียมจะมีอัตราคงตัวไปจนถึงอายุ 35 ปี และจะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่มวลกระดูกค่อยๆ มีจำนวนลดลง เฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ […]