“ข้อเข่าเสื่อม” กับการเลือกรับประทานอาหาร

ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคน การรักษาโรคเข่าเสื่อมนอกจากการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วย ก็สามารถช่วยบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการต่างๆ จากข้อเข่าเสื่อม เช่น อาการบวม ปวด อักเสบ และข้อต่อกระดูกติดขัดได้อีกด้วย อีกทั้งการหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดลง ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้

อาหารบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม

ถึงแม้ว่าอาหารจะไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการใดๆ โดยตรง แต่การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถบรรเทาอาการต่างๆ ของข้อเข่าเสื่อมได้ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารหลากหลายชนิดที่ส่งผลดีต่อร่างกายจากการทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยสารอาหารเหล่านั้นอาจช่วยลดการอักเสบ ช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยเสริมสร้างข้อกระดูกให้แข็งแรงได้

สารอาหารและตัวอย่างอาหารที่อาจช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

วิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงเอ็นข้อต่อ สำหรับผู้ป่วยข้ออักเสบเพศชายควรบริโภควิตามินซีประมาณ 90 มิลลิกรัม/วัน และประมาณ 75 มิลลิกรัม/วันในเพศหญิง ตัวอย่างอาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง สับปะรด ส้ม มะเขือเทศ มะละกอสุก บรอกโคลี กะหล่ำปลี และดอกกะหล่ำ เป็นต้น

วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยปกติร่างกายจะสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนังจากการรับแสงแดด ซึ่งควรจะเป็นแสงแดดอ่อนๆ หลีกเลี่ยงแดดจ้า และการอยู่กลางแดดเปนเวลานาน นอกจากนี้ อาหารจำพวกนม ไข่ ปลาซาดีน และอาหารทะเลก็เป็นอาหารที่มีวิตามินดีสูง สามารถหารับประทานได้ง่ายอีกด้วย

– สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) เช่น แอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidins) และเควอซิทิน (Quercetin) จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบคล้ายยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน โดยอาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ ได้แก่ บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่ ชาเขียว แอปเปิล มะเขือเทศ และหัวหอม

เบตาแคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถช่วยขจัดสารอนุมูลอิสระที่อาจทำลายข้อต่อของกระดูกต่างๆ ซึ่งอาหารที่มีเบตาแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท ผักปวยเล้ง หน่อไม่ฝรั่ง แคนตาลูป และใบสะระแหน่

กรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อต่อกระดูก และลดอาการข้อติดขัดในยามเช้า โดยอาหารที่พบกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาทูน่า ปลาซาดีน และปลาแซลมอน

คอลลาเจนไทพ์ทู (Collagen Type II) เป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน ในปัจจุบันได้มีการสกัดคอลลาเจนจากกระดูกอกไก่เพื่อนำมาใช้รักษาอาการปวดข้อต่อที่เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ โดยจะมีกลไกช่วยต้านอาการปวดและบวมจากการอักเสบ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทานคอลลาเจนที่สกัดจากกระดูกอ่อนของอกไก่ คือคอลลาเจนไทพ์ทู ลิขสิทธิ์ยูซีทู (UC–II) แล้วพบว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการข้อยึดติดได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพทางการรักษาสูงกว่ากลูโคซามีนและคอนดรอยตินทั่วไป เมื่อรับประทานในระยะเวลาที่เท่ากัน

– สมุนไพรและเครื่องเทศบางชนิด อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยลดอาการปวดหรืออาการติดขัดบริเวณข้อต่อหรอกระดูก เช่น ขิงและขมิ้น แต่ขิงอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง และแสบร้อนกลางอก หรืออาจมีปฏิกิริยากับตัวยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟารินได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกบริโภคเสมอ

– น้ำมันมะกอก สามารถนำมาใช้ทดแทนไขมันชนิดอื่นๆ เช่น ไขมันจากเนย เพราะน้ำมันมะกอกในปริมาณ 3½ ช้อนโต๊ะ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดได้ใกล้เคียงกับยาไอบูโพรเฟน 200 มิลลิกรัม หรือยาในกลุ่ม NSAIDs ได้ แต่ในขณะเดียวกัน น้ำมันชนิดนี้ก็ให้พลังงานสูงถึง 400 แคลอรี่ อาจส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ จึงควรเลือกบริโภคน้ำมันมะกอกในปริมาณที่พอเหมาะ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคสารอาหารในรูปแบบอาหารเสริมก่อนเสมอ และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ เพราะการบริโภคในปริมาณหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด หรือเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพเรื่องอื่นๆ อยู่

ข้อเข่าเสื่อมกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

การเลือกบริโภคอาหารบางชนิดอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมได้ แต่ยังมีอาหารชนิดอื่นๆ ที่ผู้ป่วยควรจะหลีกเลี่ยงด้วย เพราะอาหารเหล่านั้นอาจส่งผลให้อาการกำเริบได้ ซึ่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

– เกลือ ผู้ป่วยควรลดการใช้เกลือและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เพราะการบริโภคเกลือในปริมาณมาก จะส่งผลให้เซลล์ดูดซึมและกักเก็บน้ำไว้มากเกินไปจนร่างบวมน้ำ

น้ำตาล ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลอาจส่งผลต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย จะทำให้อาการอักเสบของผู้ป่วยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวก เค้ก คุกกี้ หรือขนมเบเกอรี่ต่างๆ

– แป้งขัดขาว จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และทำให้อาการปวดข้อต่อกระดูกรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจำพวกแป้งขัดขาว เช่น พาสต้า ซีเรียล ขนมปังขาว ธัญพืชชนิดขัดขาวต่างๆ

– อาหารทอด เช่น เฟรนช์ฟราย โดนัท เพราะอาหารทอดมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะไปเพิ่มการอักเสบภายในร่างกายได้ จึงควรเลือกบริโภคอาหารจำพวกอบแทนอาหารที่ใช้น้ำมันทอด

เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูง การปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ด้วยอุณหภูมิสูงจะก่อให้เกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End Products) ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย และอาจส่งผลเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ โดยสาร AGEs นี้มักพบในเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงด้วยวิธีการปิ้ง ย่าง หรือทอด ที่ใช้อุณหภูมิสูง

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้อาจไปกระตุ้นอาการต่างๆ ให้รุนแรงมากขึ้น และอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากเมื่อใช้ร่วมกับยาหรือการรักษาชนิดอื่นๆ ของโรคข้ออักเสบ

ขอขอบคุณข้อมูล : pobpad.com
ภาพ : matichon.co.th