วิธีดูแลโรคข้อเข่าเสื่อมเพื่อคนทุกช่วงวัย

ข้อเข่าเสื่อม วิธีรักษา อาหารเสริม สมุนไพรรักษา โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม นั้นเกิดจากการที่กระดูกอ่อนสึกหรอหรือบางลง  ซึ่งโดยปกติแล้วข้อเข่าของเราจะมีกระดูกอ่อนหุ้มอยู่ ทำหน้าที่รับแรงกระแทกและทำให้ข้อเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอหรือบางลงจะส่งผลให้กระดูกเกิดการเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหว ทำให้มีอาการปวด  และเมื่อร่างกายเราพยายามซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ จะทำให้มีเศษกระดูก และหินปูนงอกเข้าไปในข้อ ก่อให้เกิดอาการปวดข้อ ข้อขัด และเคลื่อนไหวลำบาก

คุณหมอสุมาภา ชัยอำนวย หรือคุณหมอยุ้ย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ เนื่องจากความผิดปกติของกระดูกและข้อนั้นอาจไม่ได้ส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก อีกทั้งการรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกละข้อจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษา จึงทำให้คุณหมอได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยนานขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้เห็นถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ต้องได้รับการรักษาควบคู่กัน

สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น ในปัจจุบันยังคงไม่สามารถระบุหาสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน และมีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายเหตุปัจจัยร่วมกัน มีการศึกษามากมายที่พบปัจจัยก่อโรค เช่น

  1. อายุ โรคข้อเข่าเสื่อมนั้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบในผู้ป่วยอายุยังน้อยที่เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่เอ็นรอบข้อก็อาจจะทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมได้
  2. เพศ ส่วนมากจะพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะโครงสร้างและกล้ามเนื้อของผู้หญิงนั้นปกติแล้วไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย อีกทั้งในเพศหญิงยังมีอาการที่รุนแรงกว่าเพศชายอีกด้วย
  3. โรคอ้วน คนที่อ้วนมากๆ น้ำหนักที่มากขึ้นจะไปลงที่ข้อเข่า ดังนั้น ยิ่งมีน้ำหนักมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นเท่านั้น และอาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในทางกลับกัน การลดน้ำหนักจึงมีส่วนช่วยในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ด้วย
  4. ประวัติสุขภาพของครอบครัว หากพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เราจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวกับพันธุกรรม คือการมีโครงสร้างร่างกายที่เสี่ยงตอการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมคล้ายกัน อีกทั้งการอยู่ในครอบครัวเดียวกันอาจทำให้มีกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหมือนกันได้
  5. การได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า จะพบว่าในนักกีฬา เช่น นักบาสเกตบอล นักฟุตบอล หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนเอ็นฉีกขาด ต้องเข้ารับการผ่าตัดประสานเส้นเอ็น จะทำให้โครงสร้างร่างกายโดยเฉพาะในข้อเข่าเปลี่ยนแปลงไป โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ในอนาคตจึงเพิ่มมากขึ้น
  6. การเป็นโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การเป็นโรคเกาต์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ โดยโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดการทำลายของข้อและกระดูกอ่อนซึ่งเป็นสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม4 วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันจะเน้นไปที่การรักษาแบบลดอาการปวด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่นไปเที่ยว ซื้อของตามสถานที่ต่างๆ และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ การรักษาทำได้ดังนี้

1. ยา

1.1 ยาลดอาการปวด ยากลุ่มนี้มีหน้าที่เพียงแค่ลดอาการปวด แต่จะไม่ช่วยซ่อมแซมในส่วนของโครงสร้างของข้อ จึงควรใช้เป็นครั้งคราวเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่

– ยาพาราเซตามอล ยาชนิดนี้จะช่วยลดอาการปวดชนิดไม่รุนแรงมาก ใช้แล้วไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และไม่มีผลต่อการทำงานของไต ไม่ควรกินเกินวันละ 4 กรัม

– ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน ยาไดโคลฟีแนค ยาเหบ่านี้มีประสิทธืภาพในการลดอาการเจ็บปวดและการอักเสบได้ดี แต่มีผลข้างเคียงมาก เช่น อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกง่าย มีผลต่อการทำงานของไตและตับ และอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ดังนั้นจึงควรใช้ยาเหล่านี้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดมากๆ เท่านั้น และควรใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

– ยาลดอาการปวดที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยรายที่มีอาการปวดมากๆ เท่านั้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะทำให้มีอาการง่วง ซึม คลื่นไส้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการติดยาอีกด้วย การใช้ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น

1.2 ยานวดเฉพาะที่ เช่น ยาที่อยู่ในกลุ่มต้านการอักเสบ ยาที่สกัดจากพริกไทย ยาเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดเฉพาะที่ในระยะสั้น อาจทำให้มีอาการแสบร้อน หรือระคายเคืองผิวหนังได้

1.3 อาหารเสริมบำรุงข้อ เช่น คอนดรอยติน กลูโคซามีน ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้กลูโคซามีนกับยาหลอก ซึ่งยังไม่สามารถสรุปผลการศึกษาได้อย่างชัดเจน บางงานวิจัยบอกว่า กลุโคซามีนมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดได้มากกว่ายาหลอก แต่บางงานวิจัยพบว่า กลูโคซามีนและยาหลอกมีสรรพคุณลดอาการปวดไม่แตกต่างกัน แต่ไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่พบว่ากลูโคซามีนสามารถชะลอการเสื่อมของข้อได้

1.4 น้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม เป็นการรักษาโรคข้อแนวใหม่ที่สามารถช่วยฟื้นฟูและบำรุงข้อเข่า การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในข้อเข่าที่เสื่อม จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและหล่อลื่นข้อเข่าให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

ผู้ป่วยมักเรียกกรฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมว่า การฉีดจาระบีเข้าข้อ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าออกไปได้ โดยน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมในประเทศไทยมีหลายชนิด และราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยราคาเข็มละ 3,000 – 5,000 บาท ฉีดสัปดาห์ละครั้ง จำนวน 3 – 5 ครั้ง ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ประมาณ 6 – 12 เดือน และหากว่าผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นอย่างเต็มที่ เช่น ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อให้แข็งแรง ก็สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพเข่าได้ จึงเป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก เพราะจะช่วยให้อาการดีขึ้นจนไม่จำเป็นต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมอีก

2. การฝังเข็ม 

ปัจจุบันได้มีการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยงกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการฝังเข็ม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลกมากมาย

องค์การอนามัยโลก รวมถึงสมาคมความร่วมมือโรคข้อแห่งยุโรปและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ให้การยอมรับว่าการฝังเข็มช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้ จะไปช่วยลดอาการปวดและการอักเสบในข้อเข่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงบริเวณที่ฝังเข็มอีกด้วย

3. การรักษาโดยไม่ใช้ยา 

การรักษาโดยการลดน้ำหนัก จะพบว่าการลดน้ำหนัก 1 กิโลกรัมสามารถลดแรงกระทำต่อเข่าได้ถึง 3 กิโลกรัม และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและคลายกล้ามเนื้อยังช่วยสร้างความแข็งแรงให้ข้อเข่าอีกด้วย

4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า 

ถ้าหากผ่านการรักษามาหลายวิธีแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล ยังมีอาการปวดมากอยู่ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ และมีโครงสร้างของข้อเข่าที่ผิดรูปไปมาก ต้องไปพบศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์หรือศัลยแพทย์กระดูก เพื่อเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าต่อไป

มาดูแลข้อเข่าของเราให้แข็งแรงเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทุกวันกันนะคะ

จาก คอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิต 384 – 385
ขอขอบคุณข้อมูล : https://goodlifeupdate.com/