กระดูกพรุน ,อาการ ,สาเหตุ ,วิธีรักษา ,อาหารเสริม,วิตามินเสริม,สารสกัดงาดำ,เอมมรูร่า,เซซามีน
หากพูดถึงโรคกระดูกพรุน หลายคนอาจนึกถึงแต่ผู้สูงวัยผมสีขาว ถือไม้เท้าช่วยพยุงเดิน แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคกระดูกพรุนนั้นไม่ได้พบแค่ในผู้สูงวัย ชายหญิงอายุยังน้อยทุกคนต่างก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เราจึงอยากชวนทุกท่านมาเช็คพฤติกรรมว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่
โรคกระดูกพรุนคืออะไร?
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบรรยายเรื่อง “ ลดเสี่ยงกระดูกพรุน เพิ่มคุณภาพชีวิต ” ไว้ว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะความผิดปกติของกระดูกที่มีการลดความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีโอกาสหักง่ายกว่าปกติ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยร่างกายคนเราจะมีมวลกระดูกสูงสุดในวัย 30 ปี จากนั้นร่างกายจะค่อยๆ เริ่มสูญเสียมวลกระดูกไป เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย โดยเฉพาะในเพศหญิงนั้นหลังหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะกระดูกหัก หรือสะโพกหักในผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยเกือบจะที่สุด โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน ที่มีภาวะของกระดูกเปราะบางกว่าปกติ ดูจากสถิติผู้ป่วยที่เกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก 50% เคยกระดูกหักบริเวณอื่นมาก่อน และ 80% มาจากกระดูกพรุน ที่จะไปกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ แยกเป็นสถิติได้ ดังนี้
- 50% ของผู้ป่วย ต้องมีเครื่องช่วยเดิน
- 25% ของผู้ป่วยมีความพิการตลอดชีวิต และอาจต้องนอนติดเตียง
- 22% ของผู้ป่วย ต้องได้รับการช่วยเหลือในการขับถ่าย
- 11% ของผู้ป่วย ต้องให้ผู้ดูแลให้การช่วยเหลือในการอาบน้ำ
- 5% ของผู้ป่วย ต้องได้รับการช่วยในการรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้ม ต้องคอยช่วยพยุงให้ผู้ป่วยมีการทรงตัวที่ดี มีการตรวจสอบผลข้างเคียงของยาที่จะทำให้ปวดศีรษะ มึนงง เดินเซ อีกทั้งควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ป้องกันการหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกหักซ้ำได้
กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก เพื่อเช็กภาวะกระดูกพรุน
- ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักจากภยันตรายแบบไม่รุนแรง
- ผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลงตั้งแต่ 4 เซนติเมตรขึ้นไป
- ผู้ที่ตรวจพบภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกสันหลังยุบจากภาพถ่ายรังสี
- ผู้ที่รับประทานยาบางประเภท ที่ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวน้อย (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วย aromatase inhibitors หรือผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาด้วย androgen deprivation therapy
สาเหตุของการเป็นโรคกระดูกพรุน
จากข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงจะพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนคือ การสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงจากการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุครบ 45 ปี และอีกหนึ่งปัจจัยก็คืออายุที่มากขึ้น เพราะกระดูกคนเราจะบางลง 1 – 3% ทุกปี เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
- สูบบุหรี่
- น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
- ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด
- เป็นชาวเอเชีย หรือชาวผิวขาว
- ขาดแคลเซียม หรือขาดวิตามินดี
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
- ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น เป็นโรคต่อมไทรอยด์
- เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินอาหารผิดปกติ โรคตับ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
วิธีการป้องกันโรคกระดูกพรุน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะวิตามินดี และแคลเซียม
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีผลทำลายกระดูก
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ และควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี
วิธีรักษาโรคกระดูกพรุน
- รักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยากระตุ้นการสร้างกระดูก และยาต้านการสลายกระดูก ทั้งนี้จะเป็นการรักษาด้วยวิธีรับประทานยา หรือฉีดยานั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแพทย์ที่รักษาในการพิจารณาความเหมาะสมต่อวิธีการรักษาของตัวผู้ป่วยแต่ละราย
- การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยวิตามินดี จะช่วยรักษาโรคที่มีผลให้สูญเสียมวลกระดูกได้เร็วขึ้น ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรหมั่นออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณ ข้อมูล
- ผศ. พญ. คะนึงนิจ กิ่งเพชร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายเรื่อง “ลดเสี่ยงกระดูกพรุน เพิ่มคุณภาพชีวิต”
- ภาพ : https://www.sepalika.com/